ว่าด้วย ‘โรคไมเกรน’ : ทำความเข้าใจกับโรควิบากกรรมของหนุ่มสาวและคนทำงาน

เคยต้องลางานทั้งวันจากอาการปวดหัวข้างเดียวไหม จะอธิบายให้ใครเข้าใจความเจ็บปวดนี้ก็ยากเพราะมันไม่เหมือนอาการปวดหัวที่พวกเขาเคยรู้จัก ไมเกรนไม่ใช่เพียงแค่ปวดหัว แต่มันทำให้คุณมองเห็นภาพบิดเบี้ยว เหมือนสภาพแวดล้อมทางภาพและเสียงที่อยู่รอบตัวคุณเป็นปฏิปักษ์เสียทั้งหมด แม้เพียงกลิ่นน้ำหอมที่เพื่อนข้างๆ ใส่ประจำ ก็ยังเพียงพอจะทำให้คุณอาเจียน


นั่นล่ะ คือวิบากกรรมที่คนเป็นไมเกรนต้องเผชิญ และมันเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารให้ใครเข้าใจ
‘โรคไมเกรน (Migraine)’ กำลังมาแรง เป็นเทรนด์ร้อนในกลุ่มคนทำงานที่เผชิญกับความเครียดสูงในทุกสังคม บั่นทอนประสิทธิภาพการทำงาน และนำไปสู่อาการอื่นๆ รวมถึงโรคซึมเศร้า โดยปกติเรามักเห็นผู้คนเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน (หลายคนเป็นตั้งแต่ช่วงเรียนหนังสือ) จากการสำรวจพบว่าผู้หญิงมักเป็นมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า และกำลังมีสมาชิกรายใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ประวัติศาสตร์แห่งไมเกรน ความปวดหัวนี้มีแต่โบร่ำโบราณ



ในประเทศอเมริกาเองมีผู้ป่วยไมเกรนราว 39 ล้านคน แต่มีเพียง 30% เท่านั้น ที่เข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ ส่วนคนที่เหลือต้องแบกรับความปวดอย่างเดียวดาย หลายคนต่อสู้กับอาการไมเกรนอย่างทุลักทุเล มันบั่นทอนประสาทสัมผัสอย่างร้ายกาจ บางคนมีการรับรู้ผิดพลาดทั้งภาพและเสียง ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันลำบาก จะขับรถหรือเดินทางไปไหนก็อันตรายกว่าเดิม เพราะคุณไม่สามารถเชื่อประสาทสัมผัสที่คุณมีได้อีกต่อไป การข้ามถนนในชั่วโมงเร่งด่วนหรือการเดินขึ้นบันไดก็อาจทำให้คุณเสียหลักจากปัจจัยที่คุณควบคุมไม่อยู่
จากการสำรวจพบว่า คนที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง มักรู้สึกว่าความมั่นใจลดลง เป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ และไมเกรนเองยังนำไปสู่อาการทางประสาทอื่นๆ ตามมา ซึ่งยาที่ระงับอาการปวดไมเกรนพัฒนามาตั้งแต่ปี 1990



จริงๆ แล้วในประวัติศาสตร์โลก ไมเกรนอยู่เคียงคู่อารยธรรมมนุษย์มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในอาการทางระบบประสาทที่เก่าแก่พอๆ กับ ‘โรคลมชัก (Epilepsy)’ เก่าขนาดมีการค้นพบม้วนตำราทางแพทย์ของอียิปต์สมัย 1200 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษบนกระดาษปาปิรัส บันทึกโดย อะรีทรีอัส แห่งแคปพาโดเซีย (Aretaus of Cappadocia) แพทย์ชาวกรีกสุดเก๋าอธิบายถึงอาการปวดหัวข้างเดียว วิงเวียน และอาเจียน ผู้คนในอียิปต์เชื่อว่าเป็นพลังเหนือธรรมชาติ ถูกผีร้ายสิงสู่ และแก้ปัญหาด้วยหมอผี
จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 จึงสรุปความได้ว่าอาการนี้คืออาการไมเกรนอย่างแน่แท้ เอาจริงๆ พวกเราปวดหัวข้างเดียวมาตั้งแต่ยุคสร้างพีระมิดจวบจนนั่งทำงานผ่านมือถือ

                                 "แม้การเวลาเปลี่ยนไป แต่ธรรมชาติมนุษย์ยังไม่ผันแปร"






สนใจสั่งซื้อ/สมัครตัวแทน  
โทร: 09-6932-6442




อาการของไมเกรน ความเจ็บปวดที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา



อาการไมเกรนที่แสดงออกในแต่ละคนมีความหลากหลาย บอกเล่าประสบการณ์ไม่เหมือนกัน หากคุณโชคดีหน่อยก็อาจรับมือเพียงแค่อาการปวดหัวข้างเดียว 3-4 ครั้งต่อปี โดยบรรเทาได้เองด้วยยาแก้ปวด ไม่จำเป็นต้องถึงมือหมอ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้โชคดีเช่นนั้น อาการปวดหัวไมเกรนมักกำเริบ 1 ถึง 2 ครั้งในแต่ละเดือนและมักมีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นเป็นหลายครั้งในสัปดาห์ หรือหนักข้อถึงขั้นปวดไมเกรนทุกวัน ซึ่งในขั้นนี้อาการไมเกรนมีความอันตรายสูง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ขับรถขับเรือก็จะเลี้ยวเข้าข้างทางเอาดื้อๆ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคไมเกรนสร้างคุณูปการในการทำความเข้าใจระบบทำงานของสมองและความรู้สึกเจ็บปวด ช่วยยกระดับองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) แบบก้าวกระโดดในช่วง 20 ปีให้หลัง



การแสดงออกของไมเกรนมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ‘ไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura)’ พบมากที่สุดในกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน และ ‘ไมเกรนที่มีอาการเตือน (Migraine with aura)’ อาการเตือนที่พบบ่อย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ เห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกคล้ายฟันเลื่อย ภาพที่เห็นอาจจะไม่มีสี หรือเห็นภาพมืดดำไปบางส่วน ราวกับมีม่านหมอกมาบดบัง โฟกัสเบลอ หลับตาแล้วยังเห็นได้อยู่ อ่อนไหวต่อสิ่งเร้าแทบทุกประเภท ทั้งกลิ่น แสง สี เสียง และอาจลามไปถึงรู้สึกชามือ ชาปาก พูดไม่ได้ชั่วคราว นึกชื่อไม่ออก
ซึ่งอาการไมเกรนในกลุ่มที่ 2 นี้ มักดึงดูดความสนใจนักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาเป็นที่สุด มันแสดงถึงการเชื่อมโยงของระบบทำงานประสาทการมองเห็นและสมองอย่างเป็นพลวัตร พวกเขาพบว่าลักษณะที่เห็นภาพบิดเบือนไปจากความจริง หรือเรียกว่า Classic Aura เกิดจากไฟฟ้าที่วิ่งไปตามผิวของสมองส่วน Cortex ซึ่งอยู่ท้ายสมองที่รบกวนการมองเห็น



ในคนที่ไม่มีอาการภาพบิดเบือนก็มักมีสัญญาณเตือนไมเกรนจากการหาวบ่อยๆ เหนื่อยอ่อน อารมณ์แปรปรวน ปวดคอ และอ่อนไหวต่อแสงจ้า
ตามที่เข้าใจทั่วไป อาการปวดไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมองทำให้สมองเกิดการกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าคนปกติ หลังจากสมองถูกกระตุ้นแล้วกระแสไฟฟ้าวิ่งไปตามผิวของสมองอย่างช้าๆ (ทำให้เกิดอาการการเตือนขึ้นมา) กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมองเปลี่ยนแปลงไป และยังไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทบางชนิด มีผลทำให้หลอดเลือดสมองเกิดการขยายตัวและเกิดการอักเสบขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการปวดศีรษะในที่สุด
งานวิจัยในช่วงหลังๆ พบว่าไมเกรนอยู่ภายใต้อิทธิพลของยีนกว่า 30 ยีน รวมถึงยีนที่ควบคุมนิวรอนบนผิวสมอง โดยควบคุมการปล่อยไอออน (โซเดียม โพแทสเซียม และแคลเซียม) และยีนบางตัวควบคุมประสาทสัมผัสความเจ็บปวด

                เมื่อรวมๆ กัน มันจึงทำให้สมองคุณอ่อนไหวต่อสิ่งเร้า
                                      ทั้งแสง เสียง กลิ่น และความเจ็บปวด

พัฒนาการสู่ความเข้าใจ

ในอดีตไมเกรน ถูกเชื่อว่าเป็นอำนาจของภูตผี พลังเหนือธรรมชาติ หรือถูกคนทำคุณไสยใส่ คนโบราณมักแก้ปัญหาอย่างดื้อๆ โดยการเจาะเลือดเพื่อปล่อยความชั่วร้ายออกจากร่าง หรือเจาะกะโหลกเพื่อปล่อยวิญญาณร้ายที่สิงสถิต ในต้นศตวรรษที่ 19 โรคไมเกรนถูกมองในเชิงการแพทย์มากขึ้นว่าเป็น ‘โรคจิตสรีระแปรปรวน (Psychosomatic disorders)’ ความผิดปกติของร่างกายซึ่งมีสาเหตุมาจากจิตใจโดยเป็นเฉพาะผู้หญิง ซึ่งก็ยังไม่ถูกต้องนัก
กว่าเราจะแก้กันตรงจุด ก็ล่วงเลยมาในปี 1970 นักเภสัชวิทยา Patrick Humphrey จากบริษัทยาในอังกฤษ Glaxo พยายามพัฒนายาระงับไมเกรนด้วยการใช้ประโยชน์ของสารสื่อประสาท ‘เซโรโทนิน (Serotonin)’ โดยเขาพบว่า เมื่อไมเกรนกำเริบร่างกายของเราจะลดสารสื่อประสาทแห่งความสุขนี้ลง ดังนั้นการเพิ่มเซโรโทนินทันทีอาจช่วยลดความเจ็บปวดได้



ยาที่คิดค้นใหม่จึงทำให้เซลล์ประสาทสื่อสารกับเซโรโทนินได้ดีขึ้น ซึ่งกลายมาเป็นยากลุ่ม ‘ทริปแทน (Triptan)’ หรือ ยาที่มีส่วนผสมของ ‘เออโกทามีน (Ergotamine)’ ซึ่งออกฤทธิ์ที่เส้นเลือดสมองโดยตรง เป็นยาที่เฉพาะเจาะจงกับไมเกรนตัวแรกๆของโลก
ยากลุ่ม Triptan อยู่คู่กับไมเกรนตั้งแต่นั้นมา แต่ก็ยังไม่น่าประทับใจนักและมีข้อจำกัดอยู่พอตัว มันมีประสิทธิภาพลดปวดได้เพียง 30% รักษาไมเกรนได้ชั่วครู่ แต่อาการก็อาจกลับมาใหม่ในวันรุ่งขึ้น และยังมีผลข้างเคียง เช่น เป็นผื่นขึ้นหน้าขึ้นคอ ง่วงนอน มึนงง แน่นหน้าอก ทำให้คนที่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจไม่สามารถใช้ยากลุ่มนี้ได้

ไมเกรนสำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่หนักหนา สามารถลดการเกิดอาการได้โดยการเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอและพยายามนอนให้ตรงตามเวลาทุกวัน งดเครื่องดื่มในกลุ่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แต่ในคนที่ปวดไมเกรนเรื้อรัง สามารถควบคุมได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และการใช้ยาอย่างเหมาะสม

ไมเกรนยังค่อนข้างเป็นปริศนาในปัจจุบัน แม้เราจะมีวิทยาการแพทย์ด้านประสาทวิทยาที่ก้าวหน้า  แต่ยังไม่มีวิธีจัดการอย่างเด็ดขาด การทำความเข้าใจคนเป็นไมเกรนจากสิ่งที่พวกเขาเผชิญเป็นวิธีที่ละมุนละม่อมที่สุดในการลดภาระความเจ็บปวด


     สนับสนุนเนื้อหาโดย








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ALL ABOUT HAIR

หยุดทุกโรคจากระบบน้ำเหลืองเสีย... ด้วยศาสตร์ "ภูษาบำบัด"

เกสรทั้ง5 ดอกไม้บำรุงหัวใจ